
... ดอกราชาวดี...
"ราชาวดี" ช่อน้อย กระร่อยกระหริบ
ดอกกระจิ๊บ บานสวย อวดรูปโฉม
บานทักทาย หมู่ภมร ที่ร่อนชม
ไหวสู้ลม เจ้าสะบัด พัดแกว่งไกว
ดอกเจ้าขาว หอมนาน สะท้านจิต
อยากขอปลิด ดอกเจ้า จะได้ไหม
แต่พอเห็น หมู่ภมร ก็ถอนใจ
เก็บเจ้าไว้ กับต้น ให้คนยล
"ราชาวดี" ดอกเจ้างาม นามก็สม
พี่ขอชม ชื่อเจ้า อีกสักหน
เป็นราชินี แห่งบุปผา นะหน้ามล
ถ้าได้ยล แล้วคงเห็น ว่าเป็นจริง
ราชาวดี ดอกไม้ที่มีค่าคู่ควรพระราชา
ราชาวดีเป็นไม้ยืนต้นขนาดย่อม ลักษณะกิ่งไม้เลื้อย ชนิดกิ่งแข็ง ที่ทอดกิ่งออกไป ไม่พันรอบเหมือนเล็บมือนาง แต่คล้ายมะลิลาหรือพุทธชาติ
ราชาวดีมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าBuddleja paniculata Wall. อยู่ในวงศ์ Buddlejaceae เป็นไม้กิ่งเถาที่แตกกิ่งก้านสาขามาก ลำต้นเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย เปลือกหุ้มลำต้นมี สีน้ำตาลอมเทา ใบดก เป็นใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงข้ามกิ่ง สีเขียว กว้าง 3 ถึง 5 เซนติเมตร ยาว 4 ถึง 7 เซนติเมตร หน้าใบสากคายคล้ายกระดาษทรายละเอียด ท้องใบเรียบกว่า ขอบใบจักเป็นซี่เล็กๆโดยตลอด ใบทรงรูปไข่ปลายค่อนข้างแหลม
ดอกราชาวดีออกบริเวณปลายกิ่ง เป็นช่อใหญ่ แยกออกจากซอกใบทั้ง 2 ด้านของกิ่ง แต่ละช่อจะประกอบด้วยกิ่งย่อย มีดอกสีขาวขนาดเล็ก รูปร่างเป็นหลอด ปลายกลีบบานคล้ายปากแตร ยาวประมาณครึ่งเซนติเมตรเรียงตัวอยู่รอบๆ กิ่งย่อย ดอกจะทยอยบานในเวลาไล่เลี่ย กันและบานจากโคนกิ่งไล่ขึ้นไปเรื่อยๆ ในขณะที่ปลายกิ่งจะมีดอกอ่อนเกิดขึ้นใหม่ยาวออกไปเรื่อยๆ ตามปลายแหลมของกิ่ง มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ช่วงกลางวัน และหอมแรงตอนกลางคืน ข้อมูลเกี่ยวกับราชาวดีผู้เขียน มีน้อยมาก เช่น ถิ่นกำเนิดดั้งเดิม* และระยะเวลาที่เข้ามาปลูกในเมืองไทยเป็นครั้งแรก ก็ยังไม่มี หากผู้อ่านท่านใดทราบกรุณาแจ้งมาที่กองบรรณาธิการหมอชาวบ้าน ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านท่านอื่นๆ และตัวผู้เขียนเอง เท่าที่ทราบในขณะนี้คือราชาวดีเป็นต้นไม้มาจากต่างประเทศ คงเข้ามาในเมืองไทยหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 เพราะเอกสารที่มีในปี พ.ศ. 2480 ยังไม่ปรากฏชื่อราชาวดีเลย
ไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้ตั้งชื่อไม้ดอกต้นนี้ว่าราชาวดี นับว่าตั้งชื่อได้เหมาะสมมาก เพราะนอกจากไพเราะ แล้ว ยังมีความหมายดีมากอีกด้วย
ราชาวดีตามศัพท์แปลว่า ของที่มีขึ้นสำหรับพระราชา เดิมเป็นชื่อเรียกการลงยาเครื่องทองให้เป็นสีฟ้าว่าลงยาราชาวดี เป็นการลงยาเครื่องใช้ของพระราชาเท่านั้น ใช้ลงเฉพาะเครื่องใช้ที่เป็นเงินหรือทอง ถือเป็นของสูงไม่ใช่ของคนสามัญทั่วไป สำหรับต้นราชาวดีนั้น แม้จะมีค่าเทียบได้กับเครื่องทองลงยาสีฟ้าสำหรับพระราชา แต่คนธรรมดาสามัญอย่างพวกเราก็มีสิทธิ์ชื่นชมกับคุณลักษณะพิเศษของไม้หอมชนิดนี้ได้ทั่วกัน
ประโยชน์ของราชาวดี เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่เพิ่งเข้ามาประเทศไทยได้ไม่นาน จึงยังไม่พบคุณสมบัติทางสมุนไพรอย่างเป็นทางการของราชาวดี แต่เชื่อแน่นอนว่า หากเชื่อตามหมอชีวกโกมารภัท ว่าไม่มีพืชนิดใดที่ไม่เป็นยา ราชาวดีคงมีคุณสมบัติทางสมุนไพรด้วยแน่นอน โดยเฉพาะกลิ่นหอมแรงนั้น ย่อมมีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งอาจใช้ในการรักษาแบบกลิ่นบำบัด (aroma therapy) อันเป็นการแพทย์แบบ ทางเลือกที่กำลังเป็นกระแสนิยมอยู่ทั่วโลกในขณะนี้
ราชาวดีในฐานะไม้หอม อาจปลูกลงดินในบริเวณบ้าน หรือข้างทางเดิน ก็จะให้กลิ่นหอมตลอดวันได้ตลอดทั้งปี หรือหากขาดแคลนที่ดินเหมือนผู้เขียน ก็อาจปลูกในกระถางได้โดยง่าย เพราะราชาวดีเป็นต้นไม้ ที่ปลูกง่ายและแข็งแรงทนทานมากที่สุด ออกดอกได้ง่ายและตลอดเวลา ยิ่งกว่าต้นไม้ดอกชนิดอื่น หากกิ่งเริ่มแก่หรือทรงพุ่มใหญ่โตเกินไปก็ตัดแต่งได้ตามสมควร ราชาวดีจะแตกกิ่งก้าน สาขาและให้ดอกได้ต่อเนื่องโดยไม่เสียเวลาพักตัวเลย โรคและแมลงก็ไม่เป็นปัญหา ผู้เขียนปลูกราชาวดีมาหลายปี ไม่เคยพบปัญหาจากโรคแมลงเลย และไม่เคยพบว่าราชาวดีขาดดอกเลย (ยกเว้นช่วงตัดแต่งกิ่ง)
ราชาวดีนั้นธรรมชาติคงมิได้สร้างขึ้นมาสำหรับพระราชาเท่านั้น แต่คงสร้างมาเป็นของขวัญสำหรับโลก ทั้งโลก ซึ่งรวมถึงสิ่งมีชีวิตทั้งปวง ขอเราจงมาชื่นชมกับของขวัญจากธรรมชาติชิ้นนี้ ให้สมคุณค่าที่มีอยู่นั้นเถิด * ในหนังสือคู่มือคนรักต้นไม้ ไม้ดอกหอมสีขาว สำนักพิมพ์บ้านและสวน กล่าวถึง ถิ่นกำเนิดของราชาวดีว่า มีถิ่นกำเนิดในอินเดียและมาเลเซีย